ทำความเข้าใจกับโรค SLE
โดย นายวิริทธิพล ธุวชิตอภิวิชญ์
สข.2 กรอ.
เอส แอล อี (SLE) มาจากคำว่า Systemic Lupus erythematosus มาจากภาษาลาติน Systemic แปลว่าระบบ Lupus แปลว่าหมาป่า และ erythematosus แปลว่าแดง เป็นความหมายของเลือด ทางตะวันตกจะเรียกโรคนี้ว่า “หมาป่า” ตามลักษณะการเกิดบริเวณผิวหนังเป็นจ้ำๆ รูปผีเสื้อ ผื่นแดงคล้ายรอยหมาป่า หรือลักษณะการทำลายไม่เลือกที่อย่างเฉียบพลัน แต่ประเทศไทยเรารู้จักกันในลักษณะของชื่อโรคพุ่มพวง ราชินีลูกทุ่งของไทยที่เสียชีวิตลงด้วยโรคนี้
โรค SLE หรือ Lupus เป็นโรค “แพ้ภูมิ” ตัวเองชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่โดยปกติจะทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ผ่านกลไกของเม็ดโลหิตขาว แอนติบอดี้ การอักเสบ เป็นต้น แต่สิ่งผิดปกต คือ ร่างกายกลับให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆของร่างกายตนเองในระบบอวัยวะต่างๆ ซึ่งต่างจากคำว่า “โรคภูมิแพ้” (Allergy, atopy) ซึ่งหมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมไวเกินกว่าปกติ เป็นผลให้เกิดการอับเสบขึ้น เช่น แพ้อากาศ หอบ หืด เป็นต้น แต่ไม่มีการต่อต้านระบบเนื้อเยื่อหรือเซลล์ในร่างกายตนเอง
ตอนนี้เราพอเข้าใจหรือยังครับว่าโรคภูมิแพ้เป็นอย่างไร และโรคแพ้ภูมิเป็นอย่างไร
ลักษณะของโรค เอส แอล อี (SLE)
โรคนี้มีลักษณะคือสามารถมีอาการและแสดงอาการได้ทุกระบบในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ไต สมอง ในระบบภายใน และภายนอก เช่น ผิวหนัง ข้ออักเสบ ปวด กล้ามเนื้อ และจะมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือมีการกำเริบและสงบลงเป็นช่วงๆ ในบางรายอาจไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อยแต่บางรายอาการรุนแรงจนถึงชีวิตได้ หากเราไม่สามารถรู้สาเหตุเบื้องต้นของโรคนี้เลย และไม่มีการป้องกันที่ดีอาจไปกระตุ้นทำให้เกิดโรคขึ้นได้
สาเหตุของโรค เอส แอล อี (SLE)
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่จาการศึกษาของวงการแพทย์เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ได้คือ
1. พันธุกรรม พบว่าในแฝดจากไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเกิดโรคนี้ร้อยละ 30 – 50 และร้อยละ 7 –
12 ของผู้ป่วย SLE เป็นญาติพี่น้องกัน เช่น แม่และลูกสาว หรือในหมู่ญาติพี่น้องผู้หญิงด้วยกัน
2. ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบว่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
ชนิดใดที่เป็นสาเหตุของโรคนี้
3. ฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจน โรคที่พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่งชี้ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังแปรเปลี่ยนตามการมีครรภ์ ประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด
4. แสงแดดและสารเคมี ยาบางอย่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม มีโอกาสที่โรคนี้จะแสดงอาการของโรคนี้ได้
5. ความเครียดทางร่างกายและจิตใจ การออกกำลังทำงานแบบหักโหม
กลุ่มผู้เป็นโรค เอส แอล อี (SLE)
ผู้ป่วย เอส แอล อี (SLE) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 20 – 45 ปี พบมากที่สุดในช่วงอายุ 30 ปี แต่ก็พบได้ทุกช่วงอายุ โดยพบผู้หญิงเป็นโรค SLE มากกว่าผู้ชาย 9 เท่า โรคนี้พบได้ในทุกคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก ส่วนมากพบในคนผิวดำ ผิวเหลือง มากกว่าคนผิวขาว พบมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์
อาการหรืออาการที่แสดงอย่างไรที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรค เอส แอล อี (SLE)
โรค SLE มีอาการแสดงได้หลายระบบ เช่น ผมร่วง มีผื่น ปวดข้อ แผลในปาก ซีด บวม เป็นต้น
สำหรับการวินิจฉัยโรคนี้อาศัยเกณฑ์ของสมาคมโรคข้อแห่งสหรัฐอเมริกา (American Rheumatic Association)
ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SLE เมื่อมีอาการแสดงอย่างน้อย 4 ข้อใน 11 ข้อต่อไปนี้
1. มีไข้รุมๆ ประมาณ 38 ๐ C เป็นเวลานานๆ หลายวัน
2. มีผื่นแดงที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้ม สันจมูกลักษณะคล้ายผีเสื้อ (Malar rash)
3. เป็นแผลในปากคล้ายแผลร้อนในเป็นแล้วหายช้า
4. ผื่น Discoid
5. ข้ออักเสบชนิดหลายข้อ และมักเป็นทั้งสองข้างเหมือนกัน
6. อาการแพ้แสงแดด
7. การอักเสบของเยื่อบุชนิด Serous เช่น เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
8. อาการแสดงในระบบเลือด เช่น ซีดจากเม็ดโลหิตแดงแตก เม็ดโลหิตขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
9. อาการทางประสาท เช่น ชัก ซึม อธิบายจากสาเหตุอื่นไม่ได้
10. การตรวจเลือดทาง Antinuclear antibody ให้ผลเป็นบวก
11. ตรวจเลือดหา Anti – DNA, LEcell, Anti – Sm ได้ผลบวกหรือผลบวกของ V DRL อย่างใดอย่างหนึ่ง
ฉะนั้นจะเห็นว่าการวินิจฉัยโรค SLE นั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปนัก และเป็นข้อตระหนัก
ให้ได้ทราบว่าโรคนี้มีอาการแสดงได้หลายๆ ระบบพร้อมกัน อาจมีความรุนแรงมากน้อย ไม่มีอาการหรือมีอาการรุนแรงมาก ตามแต่เหตุปัจจัย
ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่ก็รองวินิจฉัยตัวเองในเบื้องต้นดู แต่อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยสิ่งที่ดีที่สุดสมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
การรักษาและการพยากรณ์โรค
เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงเกิดขึ้นไม่เท่ากัน การที่จะรักษาจึงแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับอาการของโรค อย่างไรก็ตามการักษาทางแพทย์จะเน้นการควบคุมการกำเริบของโรคให้สงบโดยเร็ว และรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้โรคกำเริบขึ้นอีก
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรงขึ้นแพทย์อาจจะให้ยาสเตียรอยท์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน ตั้งแต่ระดับต่ำๆ ไปจนถึงขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรง บางรายอาจใช้ยาร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยารักษาโรควัณโรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และอวัยวะที่เกิดการอักเสบ
ในปัจจุบันแพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยโรค SLE ให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะมียาปฏิชีวนะ และยาลดความดันโลหิตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลโรคนี้มากขึ้น
ข้อควรปฏิบัติในการควบคุมโรค
โดย(นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ)
1. หลีกเลี่ยงแสงแดด และแสงนิออนเป็นสาเหตุทำให้โรคกำเริบได้ ควรใช้ครีมกันแดดเป็น
ประจำ โดยใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันทั้ง UAV และ UVB ที่มี SPF 15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรง
2. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ดูแลความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ และช่องปาก
3. รับประทานอาหารปรุงสุกผ่านความร้อนใหม่ๆ งดอาหารหมักดอง ผู้มีอาการทางไตร่วมด้วย ควรรับประทานอาหารกำจัดเกลือ
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. หลีกเลี่ยงสภาวะเครียดอาจทำให้โรคกำเริบได้
6. ไม่ควรซื้อยากินเองควรไปพบแพทย์
7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือสถานรักษาด้วยตนเองเพราะจะขาดการรักษาที่ต่อเนื่อง
8. หลีกเลี่ยงบริเวณแออัดอากาศไม่บริสุทธิ์ ไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด
9. ถ้ามีอาการผิดปกติชี้บ่งว่ามีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไข้หวัด มีตุ่มหนอง ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที / หรือพบแพทย์ก่อนนัด
10. ถ้าหากรับประทานยาที่กดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น อิมบูเรน แอ็นด๊อกแซน ให้หยุดยาชั่วคราวระหว่างมีการติดเชื้อ
11. ทำงานหรือเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับสภาวะของโรคที่เป็นอยู่
12. ในช่วงที่มีการรักษาด้วยยาต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
13. ไม่ควรตั้งครรภ์ในระยะที่โรคกำเริบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์
ซึ่งผู้เขียนก็เคยมีประสบการณ์มาครั้งหนึ่ง เป็นครั้งแรกที่นึกคิดกลัวมากเพราะไม่มีความรู้ในโรคนี้เลย แต่จากที่คุณหมอทุกท่านที่โรงพยาบาล(บำรุงราษฎร์) ทำการวิจัยโรคได้ทันท่วงที จึงทำให้ภรรยาผู้เขียน(คุณกานต์สิรี) สามารถรอดพ้นจากโรคนี้ และรักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาล(รามาธิบดี) จนโรค SLE สงบลงได้จนถึงปัจจุบัน
ผมอยากจะเล่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งของโรคนี้ที่เกิดขึ้นมากับภรรยาโดยไม่รู้ตัวกับอาการที่แสดง คือ
1. มีอาการอ่อนเพลีย ถ่ายท้องอ่อนแรง ให้น้ำเกลือก็ไม่หาย
2. มีไข้รุมๆ ประมาณ 38 ๐ C เป็นระยะเวลานานหลายวัน
3. มีแผลพุพองเกิดขึ้นในปาก และรุกรามที่ระบบหลอดอาหาร
4. มีอาการเหม็นกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นอาหารทุกชนิด
5. มีอาการฉุนเฉียว โมโหร้าย (อาจเกิดจากความรำคาญตัวเอง)
6. เบื้องต้นจากการตรวจเลือดให้ห้องปฏิบัติการพบเม็ดโลหิตขาวต่ำระดับ 1,000 cell/cu.mm ซึ่งปกติของคนปกติจะต้องมี 4,000 – 12,000 cell/cu.mm
ที่ทราบเพราะเข้าเช็คที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งคุณหมอให้กลับบ้านรอดูอาการท้ายที่สุดอาการไม่
ดีขึ้นลักษณะกลับเลวลงทุกวัน ผมและบุคคลในครอบครัวจึงตัดสินใจเข้ารักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทันทีโดยเป็นคนไข้ของคุณหมอบุญรอด เล็กศิวิไล
อยู่โรงพยาบาลได้ 7 วันอาการก็ยังไม่ดีขึ้นเพียงแต่ทุเลาลง(รอดูอาการ)พอเข้าวันที่ 7 อาการเริ่มมีปัญหาที่ปอดหายใจไม่สะดวกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีภาวะสมอง เพ้อเจ้อ
คุณหมอต้องนำเขาห้อง ICU ตามที่สภาวะของโรคจะอักเสบพร้อมกันหลายๆ แห่งคือ หัวใจโต ปอดบวม และระบบทางเดินอาหาร ครั้งแรกคุณหมอยังไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นโรคอะไรแน่ ซึ่งจะไม่ปรากฏบนผิวหนังและข้อ จนที่สุดผลจากการวิเคราะห์เลือดของโรงพยาบาลรามาธิบดีแจ้งให้คุณหมอเจ้าของไข้และคณะแพทย์ทราบถึงผลการตรวจเลือดหา Anti – DNA, LE cell Anit – Sm ได้ผลเป็นบวก
ทำให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านลงความเห็นว่าเป็นโรค SLE ซึงคุณหมอท่านหนึ่งยังสงสัยว่าทำไมไม่มีอาการที่ข้อต่างๆ ของร่างกายเลยโดยเฉพาะโรคนี้ส่วนมากจะมีอาการของโรคปวดข้อรูมาตอยด์เสมอ หลังจากนั้นคุณหมอจะให้ยาที่ตรงกับโรคจนอาการเริ่มดีขึ้นและโชคดีที่โรคไม่ทำลายไต รักษาอยู่ระยะหนึ่งหัวใจโตก็ลดลงปกติ ปอดก็ดีขึ้นตามลำดับจนได้ออกจากห้อง ICU ซึ่งใช้เวลาในห้องนี้ประมาณ 13 วัน ออกจากห้อง ICU เข้าห้องผู้ป่วยปกติรอดูอาการและรักษาไปอีกระยะหนึ่ง
ผมสังเกตเห็นผู้ป่วยจะมีอาการทางสมองย้ำคิดย้ำทำ เพ้อเจ้ออยู่ตลอดเวลา รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอีกระยะหนึ่งก็ขออนุญาตคุณหมอกลับบ้านเนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากอยู่บ้านได้ 1 สัปดาห์อาการก็กำเริบขึ้นอีกคือหายใจติดขัด ตอนนี้ต้องเข้าโรงพยาบาลรามาธิบดีรักษาสภาวะน้ำในปอดจนหายดีแล้ว มีท่านผู้มีพระคุณแนะนำให้ไปรักษากับ ผศ. นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ท่านมีความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งท่านก็ได้รับเป็นคนไข้ และทำการรักษาตามอาการจนในที่สุดโรค SLE ก็สงบลงได้
ทั้งหมดนี้เป็นเกร็ดความรู้และประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้รู้จักกับโรค SLE เป็นครั้งแรก แล้วท่านหละไม่ลองสำรวจตัวเองดูบ้างหรือ บทความและประสบการณ์อาจเป็นสิ่งเตือนตนสำหรับทุกคนในครอบครัวได้
กล่าวโดยสรุป
ปัจจุบันโลกเจริญขึ้นวิวัฒนาการของการควบคุมรักษาก็ดีขึ้น ถึงแม้โรค SLE เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะกระตุ้นให้โรคนี้กำเริบขึ้นมาได้
แม้โรคนี้จะยังรักษาไม่หายขาด แต่การปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วย การให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา ตั้งใจจริง อดทน ก็จะสามารถควบคุมมิให้โรคกำเริบขึ้นมาได้ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนคนปกติได้
หากใครสังสัยว่าจะเป็นโรคนี้ตามเกณฑ์ 4 ใน 11 ข้อควรรีบปรึกษาแพทย์ได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีแน่นอน